ความเป็นมาของโครงการ


จากสภาพปัญหาการจราจรติดขัดบนโครงข่ายถนนหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายถนนโดย รอบ เนื่องจากมีปริมาณจราจรเต็มความจุของถนนที่สามารถรองรับได้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 จึงได้มีมติเห็นชอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของ กรุงเทพมหานคร โดยให้ กทพ. พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบและแนวเส้นทางโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ให้มีความชัดเจน โดยคำนึง ถึงความเหมาะสมทางวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระยะเวลาดำเนินการ ความยากง่ายในการดำเนินการ ผลกระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม และให้ กทพ. พิจารณาแนวทางหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณแยกเกษตร ที่มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรดังกล่าว และเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุ ม และมีประสิทธิภาพ

ในการนี้ กทพ. จึงได้วางแผนการดำเนินงานโครงการ เป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และระยะที่ 2 ระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 สำหรับการดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 เป็นงานในระยะที่ 2 โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง

ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของรูปแบบและแนวเส้นทางของโครงการให้มีความชัดเจน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1.

2.

3.

เพื่อศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และการเงิน ของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1

เพื่อสำรวจและออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) ของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1

เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ
ส่วนทดแทนตอน N1 โดยให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายละเอียดที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนด

 
พื้นที่ศึกษาโครงการ
พื้นที่ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1ครอบคลุมพื้นที่ตามแนวสายทาง ซึ่งอยู่ในท้องที่ 5 เขต ของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางเขน เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตลาดพร้าว และเขตบางซื่อ และ 1 อำเภอ ของจังหวัดนนทบุรี คือ อำเภอเมืองนนทบุรี
จังหวัด เขต / อำเภอ แขวง /ตำบล
กรุงเทพมหานคร เขตบางเขน แขวงอนุสาวรีย์
กรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร แขวงลาดยาว แขวงจตุจักร แขวงจอมพล แขวงจันทรเกษม แขวงเสนานิคม
กรุงเทพมหานคร เขตหลักสี่ แขวงทุ่งสองห้อง
กรุงเทพมหานคร เขตลาดพร้าว แขวงจรเข้บัว
เขตบางซื่อ แขวงบางซื่อ
จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองนนทบุรี ตำบลบางเขน ตำบลบางกระสอ


แผนที่แสดงพื้นที่ศึกษาโครงการเบื้องต้น

 
ขอบเขตการศึกษาโครงการ
ขอบเขตของการศึกษาและดำเนินงานของโครงการ ครอบคลุมทั้งการศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดำเนินงานประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนี้
 
1: การดำเนินงานด้านวิศวกรรมและการจราจร
การดำเนินงานด้านวิศวกรรมและการจราจร ประกอบด้วย รวบรวมข้อมูลพื้นฐานและโครงการต่าง ๆ
ทางด้านการคมนาคมขนส่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีการก่อสร้างในอนาคต การสำรวจปริมาณจราจรและขนส่งในปัจจุบันที่จำเป็นและเพียงพอต่อการศึกษาฯ การคาดการณ์ปริมาณจราจรและสภาพจราจรในอนาคต วิเคราะห์สภาพจราจรบนช่วงทางพิเศษ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง ทางขึ้น-ลง และจุดเชื่อมต่อของโครงการ การจัดทำภาพถ่ายดาวเทียมหรือภาพถ่ายทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone / UAV) การสำรวจภูมิประเทศ การเจาะสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ การคัดเลือกแนวสายทางและทางขึ้น-ลง การคัดเลือกรูปแบบโครงสร้างทางพิเศษ จากนั้นจะทำการออกแบบเบื้องต้น ประกอบด้วย การออกแบบด้านเรขาคณิตของแนวสายทาง การออกแบบโครงสร้างทางพิเศษและทางขึ้น-ลง การออกแบบระบบระบายน้ำ งานศึกษาระบบเก็บค่าผ่านทาง งานประมาณราคาค่าก่อสร้าง และ
งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บริเวณพื้นที่ก่อสร้างแนวสายทางของโครงการ
 

2: การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน
การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ประกอบด้วย วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการมีโครงการในบริเวณพื้นที่ศึกษา โดยเปรียบเทียบต้นทุนที่เกิดขึ้นกับโครงการซึ่งจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่าง ๆ (Construction Cost) กับผลประโยชน์ที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้รับ เช่น การประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ยานพาหนะ การประหยัดเวลาในการเดินทาง และการประหยัดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ วิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนและการบริหารโครงการ โดยการหารูปแบบการลงทุนและองค์การบริหารงานเหมาะสม

 

3: การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
การศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA)
จะทำการศึกษาตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวสายทางของโครงการ ครอบคลุมทรัพยากรสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ประกอบด้วย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งดำเนินการสำรวจและตรวจวัดในภาคสนาม เช่น คุณภาพอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน คุณภาพน้ำผิวดิน นิเวศวิทยาทางน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และเศรฐกิจ-สังคม เป็นต้น เพื่อนำมาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะก่อนก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ รวมทั้งเสนอแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการติดตามตรวจคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยจะดำเนินงานการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการให้สอดคล้องกับ ข้อกำหนดและแนวทางการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สผ. กำหนด

ขั้นตอนในการศึกษาและดำเนินงานโครงการ


ระยะเวลาดำเนินงาน

ระยะเวลาการศึกษาในงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 รวม 510 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

 
แนวสายทางเลือกของโครงการ
แนวสายทางเลือกที่ 1 ทางพิเศษประจิมรัถยา-ถนนพหลโยธิน-คลองบางบัว
เริ่มต้นจากทางพิเศษประจิมรัถยา ลดระดับลงระดับใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต ไปตามแนวคลองระบายน้ำด้านข้างซอยเผือกวิจิตร ถึงถนนรัชดาภิเษกแล้วเลี้ยวขวา ถึงแยกรัชโยธินเลี้ยวซ้ายไปตาม แนวถนนพหลโยธิน ถึงแยกเกษตรแล้วเลี้ยวขวาไปสิ้นสุดสายทางบริเวณเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บนถนนประเสริญมนูกิจ
 
แนวสายทางเลือกที่ 2 ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-คลองบางบัว
เริ่มต้นจากทางพิเศษศรีรัชไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน แยกบางเขน ผ่านแยกเกษตร และสิ้นสุดแนวสายทางบริเวณ เชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 บริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ โดยมีทางเลือกย่อย 2 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกย่อยที่ 2.1
เป็นทางยกระดับเชื่อมจากทางพิเศษศรีรัชไปตามแนวเกาะกลางของถนนงามวงศ์วาน และลดระดับเป็นอุโมงค์ใต้ดินบริเวณ หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมไปถึงบริเวณสิ้นสุดแนวสายทาง
ทางเลือกย่อยที่ 2.2
เป็นอุโมงค์ใต้ดินตลอดแนวสายทาง ตั้งแต่เริ่มต้นแนวสายทางไปจนถึงบริเวณสิ้นสุดแนวสายทาง
 

แนวสายทางเลือกที่ 3 ทางพิเศษประจิมรัถยา-ต่างระดับรัชวิภาฯ-คลองบางบัว
เริ่มต้นจากทางพิเศษประจิมรัถยาไปตามแนวทางต่างระดับรัชวิภา ผ่านแยกเกษตร และสิ้นสุดแนวสายทางบริเวณ เชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 บริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ โดยมีทางเลือกย่อย 2 ทางเลือก

ทางเลือกย่อยที่ 3.1
เป็นทางยกระดับเชื่อมมาจากทางพิเศษประจิมรัถยา และลดระดับเป็นอุโมงค์ใต้ดินบริเวณซอยพหลโยธิน 35 แยก 13 ผ่านถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านแยกเกษตร ไปบริเวณสิ้นสุดแนวสายทาง
ทางเลือกย่อยที่ 3.2
เป็นทางยกระดับเชื่อมมาจากทางพิเศษประจิมรัถยา และลดระดับเป็นอุโมงค์ใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ผ่านถนนวิภาดีรังสิต ผ่านแยกเกษตร ไปบริเวณสิ้นสุดแนวสายทาง
 
สรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการ
แนวสายทางมีจุดเริ่มต้นเชื่อมจากทางพิเศษศรีรัชไปตามแนวถนนงามวงศ์วานในลักษณะของอุโมงค์ใต้ดิน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร คลองบางบัว และแยกลาดปลาเค้า แล้วยกระดับเพื่อเชื่อมต่อกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 บริเวณใกล้แยกสุคนธสวัสดิ์ ระยะทางรวมประมาณ 10.550 กิโลเมตร